เมื่อท่านเลือกสถาปนิก หรือมัณฑนากรได้แล้ว มักเกิดข้อสงสัยว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้ดีไซนิคอล สตูดิโอ จะมาแนะนำแนวทางให้กับท่าน

          โดยปกติแล้วก่อนเริ่มทำการออกแบบใดๆ สถาปนิกจะนัดคุยกับผู้ว่าจ้าง เพื่อสอบถามชีวประวัติ ความชอบ ความต้องการ รวมไปจนถึงสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งขั้นตอนนี้ค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร เนื่องจากสถาปนิกต้องการข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะรวบรวมจากท่านได้ เพื่อนำไปประมวลผลใช้ในการออกแบบอาคารให้ได้ประโยชน์ใช้สอย และตรงกับความต้องการของท่านมากที่สุด

          แต่อย่างไรก็ตามต่อให้สถาปนิกมีประสบการณ์มากเพียงใด มนุษย์เราย่อมมีความผิดพลาดได้เป็นเรื่องธรรมดา อาจเกิดจากสถาปนิกตีความคลาดเคลื่อน หรือผู้ว่าจ้างอาจจะส่งสารไม่ชัดเจน หรือไม่แน่ใจในความต้องการนัก ซึ่งปัญหานี้จะทำให้เกิดการเสียเวลาในช่วงพัฒนาแบบร่างเป็นอย่างมาก แต่หากท่านเตรียมตัวทำการบ้านซักหน่อย การได้อาคารในฝันของท่านจะง่ายขึ้น และรวดเร็วปานติดจรวดทันที

ข้อที่ 1 วางแผนงบประมาณคร่าวๆ

          งบประมาณในการก่อสร้าง หรือตกแต่งอาคาร จะเป็นตัวควบคุมขนาดพื้นที่ใช้สอย และสไตล์ของอาคารที่สามารถทำได้ ดังนั้นในส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ ส่วนมากท่านที่ไม่มีประสบการณ์มักจะนึก หรือไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสร้างอาคารซักหลังต้องใช้งบประมาณเท่าใด จริงอยู่ที่สถาปนิกที่มีประสบการณ์จะสามารถประเมินงบประมาณเบื้องต้นให้ท่านได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งจะต้องประเมินจากจำนวนห้อง พื้นที่ในอาคาร ลักษณะรูปแบบอาคาร เป็นต้น แต่เมื่อสถาปนิกแจ้งงบประมาณเบื้องต้นแก่ท่านแล้ว ท่านจะทราบว่า งบประมาณดังกล่าวคือจำนวนที่ท่านพร้อมจะจ่ายหรือไม่ เพราะหากมีการปรับงบประมาณที่จะใช้ในภายหลังจะมีผลต่อแบบร่างอาคารอย่างมาก บางครั้งต้องล้มแบบเพื่อออกแบบใหม่กันเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ท่านล่าช้ากว่ากำหนด
          ดังนั้นเบื้องต้นท่านอาจจะดูเป็นช่วงกว้างๆไว้ก่อนก็ได้ว่า ความสามารถในการใช้จ่ายสำหรับอาคารหลังนี้อยู่ที่ประมาณเท่าไร และต้องไม่ลืมว่างบประมาณที่จะต้องเตรียมไว้ใช้จะมี 4 ส่วนด้วยกันคือ ตัวอาคาร ตกแต่งภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม และสุดท้ายคือเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง เช่นนั้นท่านควรเผื่องบประมาณไว้สำหรับส่วนนี้ด้วย

ข้อที่2 สไตล์ หรือรูปแบบอาคารที่ชอบ

          ความชอบเป็นสิ่งเฉพาะ แต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ และนั้นทำให้ท่านตัดสินใจใช้นักออกแบบ แต่ท่านจะสื่อสารอย่างไรให้ตรงกับความต้องการให้ได้มากที่สุด ยิ่งบางคนอธิบายไม่คล่องยิ่งจะยากไปอีก ปัญหาตรงนี้แนะนำให้ท่านใช้รูปในการสื่อสาร เพราะรูปหนึ่งรูปสามารถทดแทนคำพูดได้มากมาย โดยท่านสามารถใช้รูปเพื่ออธิบายประกอบคำพูด และอธิบายความชอบของท่านได้ เช่น มุมระเบียงต้องการแบบนั้น ห้องครัวต้องการเคาน์เตอร์กลางแบบนี้ ชอบวัสดุชนิดนี้ อยากได้อารมณ์ทางเข้าบ้านแบบนี้ อยากได้โทนแบบนี้ หรือแม้แต่รูปที่ไม่เกี่ยวกับอาคาร แต่สามารถอธิบายตัวตนของท่านได้
          สำหรับบางท่านที่ไม่ทราบว่าความชอบของตัวเองคือลักษณะใด จากประสบการณ์การออกแบบ และประชุมแบบกับลูกค้ามากมาย เราพบว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากท่านมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสังเคราะห์ข้อมูล หมายความว่า ท่านมีภาพในหัวไม่เพียงพอ หรือน้อยเกินไป วิธีง่ายที่สุดคือ ยอมเสียเวลาสักนิดเปิดดูรูปอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะ Google ,Pinterest เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีอัลกอริทึมเพื่อดูสิ่งที่ท่านสนใจ และพยายามแนะนำรูปที่มีความเกี่ยวข้องให้เคียงกับที่ท่านชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวท่านไม่จำเป็นต้องเครียดมาก แค่ทำสมองให้โล่งๆไม่ต้องยึดติดกับสิ่งใดนัก เลื่อนหน้าจอไปเรื่อยๆยามที่ว่าง เจอรูปไหนชอบก็บันทึกเก็บไว้ เมื่อท่านมีข้อมูลมากพอเรามั่นใจว่าท่านจะสามารถรู้ใจตัวเองได้แบบไม่ทันรู้ตัว
          อย่างที่บอกท่านไม่จำเป็นต้องเครียดมากกับการหารูป ขอแค่พอสื่อสารให้ได้ก็เพียงพอ เราต้องการเน้นแค่ให้ท่านรู้ใจตัวเองเท่านั้น โดยผู้ออกแบบมีหน้าที่ขยายผล และศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ท่านเอง

3.ฟังก์ชั่น และพื้นที่ใช้สอย

          โดยปกติทั่วไปอาคารแต่ละประเภทจะมีความต้องการฟังก์ชั่นการใช้งาน และขนาดพื้นที่แตกต่างกัน สถาปนิกที่มีประสบการณ์มักจะเข้าใจในส่วนนี้ และพวกเขามักจะเตรียมคำถามไว้สอบถามท่านอยู่แล้ว แต่เราแนะนำให้ท่านเตรียมตัวมาก่อน หลักๆอยากได้แบบไหน มีสมาชิกที่ใช้สอยอาคารจำนวนเท่าไร มีใครบ้าง เช่น บ้านแบบไหนที่ท่านฝันไว้ อยากได้จำนวนกี่ชั้น ต้องการกี่ห้องนอน เป็นต้น
          ตรงนี้หากท่านมีความต้องการพิเศษให้โน้ตไว้ด้วย เมื่อท่านพบสถาปนิกครั้งแรกท่านควรจะอธิบายข้อมูลให้ได้มากที่สุด เช่น หากท่านมีสุนักตัวโปรด ต้องการพื้นที่ให้น้องวิ่งเล่นในบ้านเป็นห้องพิเศษ แคบๆแต่ยาวๆ หรือต้องการห้องอาบน้ำนอกบ้านที่คนจากภายนอกไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นต้นเราอยากเรียนท่านว่า ไม่มีความต้องการใดที่เป็นไปไม่ได้ หากท่านต้องการสิ่งนั้นจริงๆ

4.ข้อมูลทางกายภาพ

          ความเป็นไปได้ในการออกแบบ บางครั้งขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางกายภาพ อาทิเช่น ขนาดของที่ตั้งอาคาร กฎหมายอาคาร สภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพูดคุยเรื่องความชอบความต้องการ ท่านควรนำข้อมูลเหล่านี้ให้แก่สถาปนิกก่อน เพื่อที่จะได้คุยกับบนพื้นฐานของบริบทของที่ตั้งด้วย โดยข้อมูลที่ท่านควรนำมาคือ
          1.โฉนดที่ดิน หรือผังที่ดิน
          2.รูปประกอบ (ในกรณีที่ยังไม่ได้ไปยังพื้นที่)
          3.แบบแปลนอาคาร (ในกรณีตกแต่งภายใน)
          หรือแบบแปลนอาคารเดิม(ในกรณีรีโนเวท ปรับปรุงอาคาร)
            4.หากท่านมีข้อมูลอื่นๆเป็นพิเศษ ให้นำมาด้วยตั้งแต่วันแรกที่คุยกัน

5.สอบถามค่าบริการให้ชัดเจน

          ในการให้บริการการออกแบบ หรือก่อสร้างแต่ละบริษัทจะมีอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นให้ท่านสอบถามค่าบริการให้แน่ชัด งวดในการชำระเงินเป็นอย่างไร และเนื้องานที่ท่านจะได้รับมีอะไรบ้าง เพื่อความสบายใจต่อตัวท่านเอง หากท่านได้มีการต่อรอง หรืออยากให้ผู้ออกแบบแถมอะไรให้ท่าน ให้ท่านแจ้งก่อนที่จะชำระเงินในงวดแรก และให้ระบุไว้ในสัญญาไว้ด้วย

          นักออกแบบที่ทำงานมานานมีประสบการณ์มักจะมีวิธีในการคุยกับท่าน และพร้อมรับฟังปัญหาของท่าน ในเมื่อท่านตัดสินใจเลือกใช้นักออกแบบท่านใดแล้ว ให้ท่านเชื่อใจท่านนั้นๆ หากต้องการอะไรให้แจ้งผู้ออกแบบได้เลย เพราะท่านว่าจ้างเขามาเพื่อสร้างความสวยงาม และแก้ไขปัญหาให้กับท่าน เพื่อให้ท่านมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.