อัตราค่าบริการออกแบบ

เมื่อมีการว่าจ้างสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารก็คล้ายกับการจ้างงานในวิชาชีพอื่นๆ ก็จะมีเรื่องค่าบริการวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทนายความ หรือแพทย์เป็นต้น ซึ่งค่าจ้างตรงนี้เป็นคนละส่วนกับค่าก่อสร้าง หรือค่าตกแต่งภายใน โดยแต่ละบริษัทจะมีวิธีการคิดค่าบริการที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบหลักๆคือ

1.คิดตามพื้นที่ออกแบบ

          การคิดค่าออกแบบตามพื้นที่ออกแบบ เป็นการคิดค่าบริการโดยประเมินจากพื้นที่ที่ต้องการออกแบบ โดยสถาปนิกจะสอบถามข้อมูลความต้องการจากท่าน แล้ววิเคราะห์และประเมินว่าอาคารดังกล่าวมีพื้นที่กี่ ตรม. โดยทั่วไปจะถูกใช้ในการออกแบบตกแต่งภายใน แต่ก็จะมีหลายบริษัทที่นำมาใช้คำนวณค่าบริการออกแบบสำหรับสถาปัตยกรรมตัวอาคารด้วย ซึ่งราคาค่าออกแบบต่อ ตรม. ของแต่ละบริษัทจะมีความแตกต่างกัน และหากเป็นค่าออกแบบภายในจะมีราคาสูงกว่าค่าออกแบบสถาปัตยกรรมตัวอาคารภายนอก และทั้งนี้ค่าออกแบบยังขึ้นกับขอบเขตงาน ขนาดพื้นที่ออกแบบ ความยากง่ายของการออกแบบ ความชำนาญของสถาปนิก ตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างที่ 1    ต้องการออกแบบตกแต่งภายในอาคาร 300 ตรม.
                    ถ้าค่าบริการตรม.ละ1,000 จะเท่ากับค่าออกแบบ 300×1,000
                    เท่ากับ 300,000บาท
ตัวอย่างที่ 2    ต้องการออกแบบสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัย 300 ตรม.
                    ถ้าค่าบริการตรม.ละ 500 จะเท่ากับค่าออกแบบ 300×500
                    เท่ากับ 150,000บาท

2.คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าก่อสร้าง
          การคิดเป็นลักษณะเปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าค่าก่อสร้าง คือการที่สถาปนิกจะวิเคราะห์ราคาค่าก่อสร้างจากประสบการณ์โดยดูจากรูปแบบอาคาร ขนาดของอาคาร วัสดุที่น่าจะเลือกใช้ เป็นต้น จากนั้นนำราคาที่ได้มาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตามที่บริษัทนั้นกำหนด ซึ่งแต่ละบริษัทมีอัตราค่าบริการที่ตกต่างกัน โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มีมาตรฐานในคู่มือสถาปนิก เพื่อเป็นแนวทางในการคำนวณค่าแบบเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

ประเภทที่ 1 = ตกแต่ง ภายใน ครุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์
ประเภทที่ 2 = พิพิธภัณฑ์ วัด อนุสาวรีย์ อาคารอนุสรณ์ที่วิจิตรสวยงาม
ประเภทที่ 3 = บ้าน (ไม่รวมตกแต่งภายใน)
ประเภทที่ 4 = โรงพยาบาล รัฐสภา โรงแรม ธนาคาร คอนโดมิเนียม วิทยาลัย
ประเภทที่ 5 = สำนักงาน สรรพสินค้า หอพัก โรงเรียน โรงอุตสาหกรรม
ประเภทที่ 6 = โกดัง อาคารจอดรถ ห้องแถว ตลาด

ตัวอย่างที่ 1    ต้องการออกแบบบ้านมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท ไม่รวมตกแต่งภายใน  วิธีการคำนวณ
ดูจากตารางในช่วงบ้านพักอาศัย จะมีวิธีคำนวณดังนี้
7.5% X 5,000,000
ค่าออกแบบ คือ 375,000 บาท

ตัวย่างที่ 2      ต้องการออกแบบบ้านมูลค่า 20 ล้านบาท บาท ไม่รวมตกแต่งภายใน  วิธีการคำนวณ
ดูจากตารางในช่วงบ้านพักอาศัย จะมีวิธีคำนวณดังนี้
7.5%   X 10,000,000        =         750,000
6%       X 10,000,000        =          600,000
ค่าออกแบบ คือ 1,350,000 บาท

กรณีงานก่อสร้างต่อเติม

ได้แก่ การออกแบบงานก่อสร้างต่อเติมอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว และจำเป็นต้องแก้ไขระบบโครงสร้างหรือการใช้สอยของอาคารเดิมบางส่วน ให้คิดค่าแบบหรือค่าบริการวิชาชีพเท่ากับ 1.2 เท่าของมูลค่าตามวิธีคิดข้างต้น (คิดค่าแบบในอัตราปกติแล้วคูณด้วย 1.2)

กรณีงานก่อสร้างดัดแปลง

ได้แก่การดัดแปลงแก้ไขประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมระบบโครงสร้างหรือไม่ก็ตาม ให้คิดค่าแบบเท่ากับ 1.4 เท่าของมูลค่าตามวิธีคิดข้างต้น

กรณีงานก่อสร้างที่แบบซ้ำกัน

ได้แก่การก่อสร้างในบริเวณเดียวกันโดยไม่ต้องเขียนแบบใหม่ อาจเป็นบ้านจัดสรร กลุ่มอาคารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารคอนโดมิเนียม หรืออาคารที่ทำซ้ำๆ กันให้คิดค่าแบบดังนี้ครับ

        1) หลังที่ 1        คิดค่าแบบ 100%         ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

        2) หลังที่ 2        คิดค่าแบบ 50%           ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

        3) หลังที่ 3        ถึงหลังที่ 5                 คิดค่าแบบ 25% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

        4) หลังที่ 6        ถึงหลังที่ 10               คิดค่าแบบ 20% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

        5) หลังที่ 11      ขึ้นไป                       คิดค่าแบบ 15% ของค่าแบบตามวิธีคิดข้างต้น

แต่ราคาเหล่านี้เป็นเพียงแนวทาง หรือข้อแนะนำจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รวบรวมขึ้นไว้เป็นมาตรฐานเท่านั้น แต่ไม่ใช่ข้อกำหนดที่มีผลทางกฎหมาย ในความเป็นจริงแต่ละบริษัทที่ออกแบบสามารถกำหนดราคาได้ตามมาตรฐานของแต่ละที่ ซึ่งมีทั้งสูงกว่า และต่ำกว่ามาตรฐานนี้

3.การคิดราคาแบบเหมา

          การคิดราคาแบบเหมาจะขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละบริษัทออกแบบ หรือตามโปรโมชั่นในช่วงเวลานั้นๆ โดยปกติหากพื้นที่ออกแบบน้อยกว่าที่กำหนดบริษัทที่อาจจะคิดเป็นราคาขั้นต่ำหรือราคาเหมาก็เป็นได้ นอกจากนั้นหลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า ฟรีค่าแบบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นบริษัทที่รับสร้างด้วย ซึ่งในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายตรงนี้รวมอยู่ในค่าบริหารจัดการแล้ว

วิธีเลือกสถาปนิก

การหาสถาปนิกมาทำงานให้ท่านก็เปรียบดังหาคู่ชีวิต เพราะตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ จนอาคารเสร็จเรียบร้อยนั้น ใช้เวลาที่ยาวนานร่วมปี ถ้าได้คนที่ไม่ถูกใจ หรือไม่มีประสบการณ์เพียงพอ รับรองว่าท่านมีได้ปวดหัววุ่นวายแน่นอน วันนี้ Designical studio ของเสนอวิธีการเลือกสถาปนิกง่ายๆดังนี้

1.เลือกลักษณะหน่วยงานที่ท่านต้องการ

รูปแบบแรก คือ บริษัทรับสร้างบ้าน
มีแบบสำเร็จให้เลือก สามารถปรับแก้ได้บ้าง ส่วนใหญ่รูปแบบจะเรียบง่าย
แต่อาจจะไม่ถูกใจผู้ที่ต้องการแบบที่พิเศษเฉพาะบุคคล หรือต้องการอาคารตามที่ฝัน
รูปแบบสอง คือ สถาปนิกฟรีแลนซ์
ราคามักไม่แพง ส่วนใหญ่เป็นสถาปนิกใหม่ไฟแรง ประสบการณ์ต้องดูเป็นรายบุคคล
รูปแบบสาม คือ สถาปนิกรูปแบบบริษัท
ราคาสูงกว่า แต่มีความรับผิดชอบต่องานมากกว่า มีระบบในการทำงานชัดเจน

2.เลือกจากสไตล์ที่ถูกใจก่อน

          ถึงแม้สถาปนิกหลายคนอาจจะบอกว่าสามารถออกแบบบ้านได้ทุกแนว ซึ่งตามหลักแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นแต่ละบริษัทมักจะมีความถนัดที่แตกต่างกัน ทางทีดีที่สุดให้ท่านตัดสินใจก่อนว่าตัวเองมีความชื่นชอบสไตล์ให้แน่ชัด จากนั้นให้หาบริษัทที่ทำงานออกมาในรูปแบบตรงกับที่ท่านกำลังสนใจ ดังนั้นง่ายที่สุดคือขอดู Portfolio ของบริษัทนั้นเพื่อนำมาพิจารณา หากยังไม่ถูกใจให้ค้นหาไปเรื่อยๆ ถ้าเจอที่ถูกใจอาจจะเก็บไว้ตัดสินใจซัก 2 – 3 บริษัทก็ได้

3.ประวัติการทำงาน

          แน่นอนประสบการณ์การทำงานมีผลต่อคุณภาพงาน แต่ไม่จำเป็นต้องขนาดประสบการณ์20ปี แค่มากกว่า 3-4 ปี ก็ถือว่าสามารถทำงานได้ครอบคลุมแล้ว ดังนั้นจึงควรขอดูผลงานงานที่ผ่านมา สืบว่าทำงานมากี่ปีแล้ว หากเป็นสถาปนิกฟรีแลนซ์ก็ให้ดูว่าเคยทำที่บริษัทไหนมาบ้าง

4.อัตราค่าบริการ

          ทุกบริษัทนั้นมีขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างกัน ประสบการณ์และฝีมือไม่เท่ากัน จึงมีค่าบริการไม่เท่ากัน แต่ถ้าบริษัทที่ที่มีชื่อเสียงใกล้เคียงกันราคาย่อมไม่แตกต่างกันมาก ให้ท่านเลือกที่ท่านถูกใจ และคุ้มค่า ความคุ้มค่าไม่ใช่ถูก หรือแพง แต่เหมาะสมกับราคาที่จ่าย

5.นัดพบ พูดคุย

          นอกจากขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับprofileงานแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ควรจะประเมินว่าเราจะรู้สึกดีที่จะทำงานร่วมกับคนๆนี้ในระยะยาวหรือไม่ เนื่องจากต้องอยู่ทำงานด้วยกันร่วมปี หากไม่รู้สึกสบาย หรือพูคุยความต้องการได้ทั้งหมดก็คงจะทำงานด้วยกันยากลำบาก

          หลังจากที่ได้พบสถาปนิกแล้ว แนะนำให้เลือกคนที่ถูกใจ และสามารถทำงานให้ท่านได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ทำไมควรจ้างสถาปนิก

1.ประสบการณ์ และความชำนาญ
          คนเรานั้นมีความชำนาญ และถนัดไม่เหมือนกัน เปรียบเทียบเหมือนจะให้ลิงว่ายน้ำแข่งกับปลาก็ลงลำบาก หากท่านไม่มีความรู้ในด้านนี้ การจะออกแบบให้สวยถูกใจ ใช้สอยได้ดี และมีรายละเอียดที่ครบถ้วนนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่จะทำเองไม่ได้ (ในอาคารไม่ใหญ่) หากแต่ต้องใช้เวลาที่นาน รวมไปจนถึงหากผิดพลาดยอมเกิดความเสียหายมูลค่ามาก บางครั้งผิดพลาดแล้วต้องมาปวดหัวกับการแก้ปัญหาไม่จบสิ้น

2.สามารถทำตามลำดับ ขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง
          สถาปนิกส่วนมากมักจะเข้าใจความเหมาะสม ไม่ว่าท่านจะสร้างอาคารสำหรับธุรกิจ หรืออาคารพักอาศัย หากท่านปรึกษาสถาปนิกตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ท่านจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น เนื่องจากสถาปนิกต้องเข้าใจลำดับการทำงาน ทราบถึงขั้นตอนการทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยท่านเลือกแนวทางในการออกแบบ หรือจัดการให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด (ความคุ้มค่ามิใช่ถูกที่สุด แต่เหมาะสมที่สุดกับเงินที่จ่ายไป)

3.เข้าใจจุดประสงค์ และสามารถตอบสนองความต้องการของท่านได้
          เนื่องจากสถาปนิกทราบภาพรวม และเข้าใจองค์รวมอาคาร จึงสามารถทำความต้องการของท่านให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ นอกเหนือไปจากนั้นยังรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

4.ประสานงานกับวิศวกร
          อาคารนอกจากความสวยงาม และฟังก์ชั่นการใช้สอยแล้ว ยังต้องมีเรื่องโครงสร้าง งานระบบอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตยกรรมอีก ซึ่งโดยปกติสถาปนิกจะเป็นผู้ประสานงานการออกแบบ เพราะเป็นผู้ออกแบบอาคารเข้าใจความซับซ้อนของอาคารทั้งหมด

5.เข้าใจกฎหมายอาคาร
            การออกแบบ และก่อสร้างจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายอาคารที่มีมากมายหลายข้อ หลายหมวดหมู่ หากเข้าใจข้อกำหนดนี้ตั้งแต่แรก จะทำให้วางแผน และออกแบบได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาให้ยุ่งยากภายหลัง

6.การขออนุญาตต้องมีการเซ็นรับรองตามกฎหมาย
          นอกจากสถาปนิกจะต้องออกแบบ เขียนแบบ ผสานงานกับวิศวกรให้ท่านแล้ว การขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมาย ต้องมีการรับรองจากสถาปนิก และวิศวกรเสมอ

7.ประเมินราคาค่าก่อสร้างได้ล่วงหน้า
          ตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบ สถาปนิกทราบรายละเอียด รวมไปถึงวัสดุต่างๆที่ใช้ จึงสามารถทำการประเมินราคาค่าก่อสร้างได้ล่วงหน้า ทำให้สามารถปรับอาคารให้อยู่ในงบประมาณไม่บานปลายในภายหลัง

8.บริหารการก่อสร้าง
          นอกจากการออกแบบแล้ว หากท่านว่าจ้างสถาปนิกดูแลงานก่อสร้างด้วย สถาปนิกจะเป็นผู้เข้าใจอาคารหลังนี้ดีที่สุด ซึ่งจะทำงานร่วมกับวิศวกร เมื่อเกิดปัญหาสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที และยังเข้าใจการก่อสร้างอาคารสามารถทำให้เกิดความคุ้มค่าในการก่อสร้าง ไม่สิ้นเปลืองโดยมิใช้เหตุ

9.ให้คำปรึกษาการซ่อมบำรุง
          หลังจากก่อสร้างอาคารเสร็จ สถาปนิกจะสามารถให้คำปรึกษา และแนะนำวิธีการดูแลอาคาร หากมีปัญหาจากแบบก่อสร้าง หรือการก่อสร้าง สถาปนิกสามารถแนะนำวิธีการซ่อมแซมได้

          หากพิจารณาจากเหตุผลต่างๆจะพบว่า การจ่ายค่าบริการวิชาชีพแก่สถาปนิกที่ดูเหมือนจะแพง และเสียเปล่านั้น จริงๆแล้วมีความคุ้มค่ามากกว่า เช่น ท่านได้อาคารที่สวยงาม การใช้สอยถูกใจ ไม่ต้องมานั่งแก้ปัญหาต่างๆเอง ที่สำคัญยังไม่ต้องมาเสียเงินในเรื่องที่ไม่ควรเสีย ดังคำกล่าว เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

ทำไมค่าออกแบบจึงแตกต่างกัน

ในแต่ละบริษัทมีวิธีทำงานแตกต่างกัน แม้แต่รายละเอียดในการออกแบบก็แตกต่างกัน จึงใช้วิธีคิดค่าออกแบบที่แตกต่างกัน จึงนำมาสู่ค่าออกแบบที่แตกต่างกัน แม้แต่อาคารประเภทเดียวกันบริษัทเดียวกันก็อาจจะมีค่าแบบแตกต่างกันได้ การที่ค่าออกแบบแตกต่างกันปัจจัยส่วนใหญ่ได้แก่

1.โปรไฟล์ของบริษัท
          บริษัทใหญ่ หรือบริษัทที่มีประสบการณ์ทำงานมาหลายปี ย่อมคิดค่าใช้จ่ายสูงกว่าบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน และค่าออกแบบของบริษัทก็สูงกว่าการจ้างฟรีแลนซ์ อาจจะด้วยความพร้อม การมีทีมงานหลายแผนก ความรับผิดชอบ และประสบการณ์

2.ขอบเขตงาน
          ขอบเขตเนื้องานนั้นเป็นตัวกำหนดอัตราค่าบริการ หากท่านต้องการให้ทำทุกอย่างแบบครบวงจรค่าใช้จ่ายก็จะตามเนื้องานที่ท่านให้ทำ หากท่านให้เฉพาะสถาปนิกออกแบบ ไม่รวมควบคุมงาน ค่าใช้จ่ายก็น้อยลงมา เป็นต้น

3.ขนาดพื้นที่ และสไตล์
          ขนาดพื้นที่ใช้สอยยิ่งมากค่าออกแบบก็สูงขึ้นตามเป็นเรื่องธรรมดา และสไตล์ที่ใช้ในการออกแบบก็มีผลต่อค่าใช้จ่ายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากออกแบบภายในแบบมินิมอลสไตล์ ค่าใช้จ่ายก็จะน้อยกว่าออกแบบภายในแบบคลาสสิกสไตล์ เนื่องจากมีเนื้องาน และรายละเอียดที่ต้องทำสูงกว่า เป็นต้น

4.ความยากง่าย ซับซ้อนในการออกแบบ
          อาคารที่มีความซับซ้อนในการออกแบบจะมีรายละเอียดมากกว่า ใช้เวลา และจำนวนบุคลากรที่ทำงานมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจึงสูงขึ้น บางบริษัทคำนวณค่าบริการจากเปอร์เซ็นของค่าก่อสร้าง แต่ในบางกรณีอาคารอาจใช้วัสดุราคาถูก แต่มีรายละเอียดในการออกแบบที่เยอะ ราคาค่าบริการก็จะสูงขึ้น

5.ความรวดเร็วในการทำงาน
          ปกติในการออกแบบจะมีกำหนดเวลาในการทำงานอยู่แล้ว แต่หากท่านต้องการเร่งใช้งาน ต้องการให้งานเสร็จเร็วขึ้นเป็นพิเศษ บริษัทออกแบบก็ต้องปรับแผนการทำงาน ใช้บุคลากรมากขึ้น และใช้ชั่วโมงทำงานมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเป็นธรรมดา

          แน่นอนคนเราโดยปกติจะไม่อยากจ่ายอะไรในราคาที่สูง เราก็ไม่ต้องการให้ท่านจ่ายอะไรในราคาที่แพงเช่นกัน แต่ควรใช้จ่ายในอะไรที่คุ้มค่าที่สุดมากกว่า คือราคาอยู่ในช่วงที่จ่ายไหว ได้คุณภาพสมราคา และได้งานในรูปแบบที่ต้องการ

ฮวงจุ้ย คืออะไร (เบื้องต้น)

ฮวงจุ้ย (FUNGSHUI) หมายถึง สภาวะแวดล้อม หรือการอยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ในคติของชาวจีนมีลักษณะใกล้เคียงสถาปัตยกรรมศาสตร์คำว่า ฮวงจุ้ย มาจากคำว่า ลม(ฮวง)และ น้ำ(จุ้ย)ออกเสียงตามสาเนียงจีนแต้จิ๋ว

แก่นแท้จริงของศาสตร์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากหลักการของธรรมชาติ และอ้างอิงวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งชื่อวิชาก็บ่งบอกได้ชัดเจนอยู่แล้ว คำว่า”ฮวง” แปลว่า ลม และ “จุ้ย”
แปลว่า น้ำ ซึ่งไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างใด บางคนที่พยายามนำฮวงจุ้ยมาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ท่านผู้อ่านคงต้องลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนกันเอง ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆผู้เขียนคิดว่า ซินแสในสมัยก่อนก็เหมือนผู้เชียวชาญเกี่ยวกับการออกแบบอาคารในสมัยก่อน เปรียบเทียบเหมือนเป็นสถาปนิกในสมัยนั้นนั้นเอง

วิชาฮวงจุ้ย มองว่าสรรพสิ่งรอบตัวล้วนแล้วแต่มีพลังงานทั้งสิ้น ศาสตร์วิชาฮวงจุ้ยจะว่าด้วยการดึงพลังเหล่านั้นที่มีอยู่รอบตัวอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ให้มาเสริมผู้อยู่อาศัย โดยพลังนั้นมากับ“การพัดไหลเวียนของอากาศ ที่เรียกว่า “ลม” และความเคลื่อนไหวของ “น้ำ” และแสงสว่าง รวมทั้งพลังจาก “สีสัน” “รูปลักษณ์” และ “ทิศทาง”
โดยพยายามหาทางจัดการให้พลังทั้งหมดนี้ มาเสริมกับพลังของตัวบุคคล (ดวงชะตา) นั่นเอง โดยมีสูตรพลังงานที่ซับซ้อนในการคำนวณรูปแบบของพลังงานที่มาจากแต่ละทิศทาง หากอ่านมาถึงจุดนี้อยากให้ท่านเข้าใจว่าแก่นแท้ของฮวงจุ้ย และสถาปัตยกรรมจะไม่ต่างกันมาก (ขอเน้นคำว่าแก่นแท้)ก็คือต้องการให้ “ผู้อยู่อาศัย” มีชีวิตที่ดีในสถานที่นั้นๆของเขา

บางครั้งท่านอาจจะเคยได้ยินว่า ความแตกต่างของสถาปนิก และซินแส ต่างกันเพียงแต่มุมมอง นั่นคือสถาปนิกจะมองจาก “ประโยชน์ใช้สอย และความสวยงาม” ต่อเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่ซินแสนั้นจะมองจาก “พลังงานของผู้อยู่อาศัย และพลังงานของทิศทางสถานที่ โดยในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าไม่ถูกต้องสักทีเดียว เนื่องจากในโรงเรียนสถาปัตยกรรมก็มีการเรียนการสอนในเรื่องของ ทิศทางแดด ลม ฝน คุณภาพอากาศในอาคาร แสง เสียง และสภาวะน่าสบายที่อธิบายสิ่งต่างๆที่มีผลต่อความสบายทางอุณหภูมิของผู้อยู่อาศัย ผู้เขียนเองก็เคยได้ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าสถาปนิกไม่สนใจเรื่องบริบทพื้นที่(พลังงาน)ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว โดยส่วนมากสถาปนิกมักจะไม่ชอบศาสตร์ของฮวงจุ้ยเลย แต่ตัวผู้เขียนไม่มีอคติใดๆ กับฮวงจุ้ยเลย จากประสบการณ์การศึกษาของผู้เขียนพบว่า หากเราเข้าใจหลักการที่เป็นแก่นแท้ของศาสตร์นี้ จะพบว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรที่ผิดไปจากหลักการที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์สถาปัตยกรรมสอบนัก และปัจจุบันมีอาจาร์ยสถาปัตยกรรมหลายท่านที่ลองนำศาสตร์ของฮวงจุ้ยข้อต่างๆมากทดสอบ ทดลองตามหลักการ ระเบียบวิธีวิจัยแล้วจะพบว่า หลายข้อในหลักการของฮวงจุ้ยนั้นถูกต้องตามหลักการออกแบบปัจจุบัน แต่อาจจะมีบางข้อหากนำมาใช้จะต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และบทริบทในประเทศไทย

ส่วนที่ฮวงจุ้ยมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฮวงจุ้ยเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา และวิธีการที่เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของคนจีนที่สั่งสมมา จากประสบการณ์ การสังเกต และการทดลองใช้งาน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ฮวงจุ้ยจึงได้รับการกล่าวขานว่าคือ “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ”

เกร็ดความรู้ฮวงจุ้ยเบื้องต้น

ฮวงจุ้ยแบ่งเป็น 3 สายหลักๆได้แก่
1.ซำง้วน
การนำข่วย 8 ทิศ หรือโป๊ยข่วย มาเรียงซ้อนกันใหม่เป็น 64 ข่วย (8*8 =64)
2.ซาฮะ
ส่วนซาฮะไม่ใช้ข่วย แต่จะใช้ 5 ธาตุผสมกับหลักหยินหยาง กลายเป็น 10 ราศีฟ้า 12 ราศีดิน แล้วนำมารวมกันกลายเป็น 60 กะจื้อ
3.จงฮะ
ผู้ที่สามารถใช้ทั้งซำง้วน และซาฮะได้อย่างชำนาญ
คำถามคือ เวลาไหนใช้ซำง้วน เวลาไหนใช้ซาฮะ ว่ากันว่าเคล็ดลับพวกนี้ซินแสจะถ่ายทอดวิธีการดังกล่าวให้กับบุตรที่สืบสายเลือดของตนเองเท่านั้น
และต้องเป็นบุตรชายเท่านั้น

หลักของฮวงจุ้ย เชื่อในพลังแห่งความสำเร็จ 3 อย่าง ดังนี้

1.ฟ้าลิขิต
การกำหนดจากฟ้า ในเรื่องของโชคชะตา และความเป็นไปในจักรวาล เชื่อกันว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
2.คนลิขิต
เป็นการทำตัวของคน ว่าจะเลือกทำความดี หรือความเลว
3.ดิน
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในศาสตร์ของฮวงจุ้ย เพราะเป็นตัวกำเนิดของธาตุต่างๆ ทั้งยังหมายถึงธรรมชาติ และความสดุลของพลังธรรมชาติ ตามหลักความเชื่อของฮวงจุ้ย

หลักการสำคัญ ในศาสตร์ของฮวงจุ้ย
1.ดวงชะตา
ดวงชะตาฟ้าลิขิตนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตามหลักความเชื่อของศาสตร์ฮวงจุ้ย ว่ากันว่าจะต้องมีการพยากรณ์ดวงชะตาราศีกันเสียก่อน เพื่อพิเคราะห์ พิจารณาถึงพื้นชะตา ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยน เสริมชะตา เพื่อให้เข้ากับหลักอื่นๆ ตามวิชาฮวงจุ้ยได้หรือไม่
2.ชัยภูมิ
หมายถึงที่อยู่อาศัย จะช่วยในการหนุนเสริมดวงชะตาให้กับผู้อยู่อาศัย สามารถชักนำเอาพลังแห่งจักรวาลมาหมุนเวียนภายในบ้าน ซึ่งสามารถแตกแขนงออกเป็นหลายสาขาย่อยๆ แต่ส่วนมากแล้วเป็นแนวทางในการเลือกชัยภูมิ การปรับ การเสริมชัยภูมิ เป็นต้น
3.ดาวนพเคราะห์ (ดาว9ยุค)
มีการนำเอามาใช้กันมากที่สุด การจัดวางชัยภูมิให้ดึงพลังแห่งอำนาจ ความร่ำรวยให้เข้ามาสู่บ้าน การจัดวางชัยภูมิตามหลักวิชานี้ ดังนั้นตามหลักของฮวงจุ้ยแล้ว การสร้างชัยภูมิที่อิงภูเขาและหันหน้าหาแม่น้ำ จึงเป็นสุดยอดฮวงจุ้ย ที่จะนำมาซึ่ง โชคลาภ บารมี ความร่ำรวยและยิ่งใหญ่ เป็นต้น
4.ฮวงจุ้ย 8 ทิศ
ความสัมพันธ์ระหว่างคน และทิศทั้ง 8 จะเน้นที่เรื่องของประตู ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการเข้าออกของโชคลาภ อำนาจ บารมี และความร่ำรวย อีกหลักหนึ่งที่สำคัญคือจุดประธาน อันเป็นจุดที่เสริมสมดุลของทุกสิ่ง เป็นหลักของทุกสิ่งในบ้าน และกิจการ

ฮวงจุ้ยจะใช้หลี่-ชี กับชัยภูมิ ในสัดส่วนที่สมดุลกัน

โดยหลี่-ชี่ หมายถึงการเคลื่อนไหวของปราณ หรือการถ่ายเทพลังงาน
-เริ่มจากการสังเกต + เทพนิยายจีน
-ทฤษฏีบรรยากาศ
-ทฤษฏีไอออนเหล็ก
-สุนทรียศาสตร์
ในหนึ่งหมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ทิศทาง แดด ลม ฝน

ชัยภูมิ หมายถึงที่อยู่อาศัย ในหนึ่งหมายถึงสิ่งที่มองเห็นได้ได้ คือพื้นที่ตั้ง รูปลักษณ์ รูปทรง

หากเปรียบเทียบชี่ กับวิทยาสาสตร์สมัยใหม่ จะพบว่า พลังของชี่ทางฮวงจุ้ยจะถูกอธิบายด้วยหลักการให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่สื่อถึงความสบายของผู้อยู่อาศัยและ ทัศนีภาพที่สวยงานที่ผ่านการกลั่นกรองกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยก่อนของประเทศจีน ในส่วนของวิทยาศาสตร์อาคารในศาสตร์ของสถาปัตยกรรมก็มีหลักการออกแบบเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความสบาย เช่นกันซึ่งมีหลายทฤษฏี เช่น สภาวะสบาย เป็นต้น

ท้ายที่สุดผู้เขียนขอสรุปไว้ว่า ฮวงจุ้ยคือศาสตร์ในการกำหนดที่ตั้งให้เหมาะสม และเป็นมงคลสำหรับผู้ใช้งานสถานที่นั้นๆ โดยมีองค์ประกอบธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ เข้ามาเกี่ยว ซึ่งไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความคล้ายคลึงกันกับการออกแบบสถาปัตยกรรมในสมัยใหม่ เนื่องจากหลักการในหลายๆส่วน และที่สำคัญคือจุดมุ่งหมายสำคัญในการนำไปใช้มีความคล้ายคลึงกัน คือต้องการให้ “ผู้อยู่อาศัย” มีชีวิตที่ดีในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นไม่ว่าท่านจะใช้หลักของศาสตร์ใดหากทำให้ถูกต้อง ทั้งคู่ย่อมมีความสอดคล้องกัน

*ข้อมูลทั้งหมดมาจากรวบรวม การศึกษา การอ่านหนังสือ และประสบการณ์ โดยนำมาตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ตามความเข้าใจของผู้เขียน(สถาปนิก) หากมีข้อความใดที่ไม่ตรงกับความเชื่อ หรือความเข้าใจของท่านต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

ขั้นตอนการออกแบบสถาปัตยกรรม

การออกแบบสถาปัตยกรรม คือ การแปลงความต้องการ ความชอบ ความคิด มาผนวกกับฟังก์ชั่นการใช้สอย งบประมาณ รวมไปจนถึงโครงสร้างอาคาร ให้ความต้องการของเจ้าของโครงการกลายเป็นจริง เป็นแบบก่อสร้างที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการก่อสร้างได้ ซึ่งการออกแบบจะมีขั้นตอนดังนี้

1.Project Programming

            เป็นขั้นตอนการศึกษากำหนดรายละเอียดต่างๆในโครงการ โดยในขั้นตอนนี้ทางเจ้าของโครงการต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องสูงที่สุด เพราะต้องทำการบ้านร่วมกันกับผู้ออกแบบ ยิ่งให้รายละเอียดแก่ผู้ออกแบบมากเท่าใด ก็จะมีโอกาสที่ผู้ออกแบบจะสามารถตีโจทย์สิ่งที่เจ้าของโครงการต้องการได้ถูกต้องมากขึ้น โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการสนทนากันระหว่างผู้ออกแบบ กับเจ้าของโครงการ โดยจะมีรายละเอียดที่จำเป็นดังนี้

1.ขอบเขตงาน           เจ้าของโครงการต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ออกแบบการออกแบบแค่ไหน และทำอะไรให้บ้าง
2.ฟังก์ชั่นการใช้สอย           ผู้ออกแบบมักจะมีคำถามประเภทที่ว่า อาคารนี้จะใช้ทำอะไรบ้าง ต้องการห้องอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษหรือไม่ เป็นต้น
3.งบประมาณคร่าวๆ            ในส่วนนี้บางท่านอาจจะไม่สามารถคำนวณได้ ตรงนี้ผู้ออกแบบจะสามารถช่วยท่านได้ แต่เบื้องต้นท่านอาจจะต้องมีตัวเลขในใจมาก่อนคราวๆอาจจะเป็นตัวเลขกว้างๆเช่น 10-14ล้านเป็นต้น ส่วนจะสามารถทำได้หรือไม่ผู้ออกแบบจะมีหน้าที่บอกท่านเอง
4.ข้อจำกัดในการออกแบบ   หากมีข้อจำกัดพิเศษแตกต่างจากบริบทปกติ ควรแจ้งผู้ออกแบบตั้งแต่ในขั้นแรกๆ
5.ขนาดที่ตั้งโครงการ           ท่านต้องเตรียมคือโฉนดที่ดินที่ถ่ายเอกสารมาเท่ากับฉบับจริง หรือหากตกแต่งภายในอาจจะนำแบบก่อสร้างเดิมที่มีมาประกอบได้ และหลังจากคุยเบื้องต้นแล้ว ก่อนเริ่มงานผู้ออกแบบอาจจะเข้าไปวัดพื้นที่จริงอีกครั้ง
6.สไตล์ที่ชอบ                     เนื่องจากการคุยกันด้วยวาจาอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันได้ แต่หากมีภาพประกอบจะทำให้สามารถเข้าใจตรงกันได้ง่ายกว่า จึงแนะนำให้ลองหารูปแนวทางที่ชอบไว้ก่อนนัดคุยกับนักออกแบบ เพราะท่านจะมีเวลาค่อยๆค้นหาแบบอาคารที่ท่านต้องการจริงๆ และถูกใจท่านมากที่สุด

          *นอกจากนี้ท่านสามารถบอกผู้ออกแบบทั้งแบบที่ชอบ และแบบที่ไม่ต้องการได้

2.Quotation for design fee

          หลังจากได้รับข้อมูล ทราบขอบเขตงานแล้ว ผู้ออกแบบจะประเมิน และส่งใบเสนอราค่าบริการให้กับเจ้าของโครงการ หากพิจารณาแล้วสามารถไปต่อได้ก็ว่าจ้างผู้ออกแบบ และทำสัญญาว่าจ้าง หากยังไม่สะดวกสามารถแจ้งผู้ออกแบบได้เลยในขั้นตอนนี้ โดยในขั้นตอนนี้ผู้ออกแบบยังจะต้องแจ้งขั้นตอนการทำงาน และประมาณการระยะเวลาทำงาน(Design Stage)ให้กับผู้ว่าจ้างทราบ

3.Schematic design

          เป็นการนำข้อมูลที่ได้รับมาสังเคราะห์เพื่อนำมาใช้ออกแบบ โดยผู้ออกแบบจะทำการวางแนวทางความคิดในการออกแบบ(Preliminary Concept) เพื่อให้ท่านพิจารณาแบบร่างโดยมีข้อข้อต่างๆ เช่น แนวความคิดในการออกแบบ(Concept design) ,รูปแบบการออกแบบ(Style) ,การแบ่งพื้นที่ใช้สอย (Zoning) หรือความเป็นไปได้โครงการ(Feasibility Study) ซึ่งมักใช้ในโครงการที่มีขนาดใหญ่
          ซึ่งขั้นตอนนี้หากเปรียบเทียบกับการปั้นหุ่น ก็คล้ายกับการขึ้นรูปตัวหุ่น ขั้นตอนต่อไปคือการแกะสลักเข้าไปเรื่อยๆเพื่อให้ถูกใจเจ้าของโครงการมากที่สุด ดังนั้นการแก้ไขในขั้นตอนแรกๆจะใช้เวลาน้อยที่สุด ควรจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หากมีอะไรที่ต้องแก้ไขให้รีบแจ้งทางผู้ออกแบบ ไม่ควรปล่อยให้ไปขั้นตอนต่อไป ไม่เช่นนั้นนอกจากจะเสียเวลาแล้ว การก่อสร้างอาคารก็จะถูกเรื่อยออกไปอีก

4.Design Development

          ขั้นตอนนี้คือการพัฒนาแบบ โดยนำโครงของแบบขั้นต้นที่แล้วมาแกะสลักให้ถูกต้องตรงใจเจ้าของโครงการ ซึ่งจำนวนการแก้ไขแบบในขั้นตอนนี้จะขึ้นกับการตกลงร่วมกันกับผู้ออกแบบ แต่ยิ่งจำนวนมากครั้งก็ยิ่งใช้เวลามากขึ้น แต่โดยส่วนมากจะแก้ไขไม่มากนัก จะเป็นการแก้ไขรายละเอียดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากก่อนจะถึงขั้นตอนนี้มักจะได้รับอนุมัติจากแบบขั้นต้นมาก่อนแล้ว โดยในขั้นตอนนี้จะประกอบไปด้วย ผังแสดงการใช้สอย(Layout plan) ,ภาพทัศนียภาพอาคาร (Perspective) ,วัสดุตกแต่งที่เลือกใช้(Material Selection) ,ระดับ และระยะต่างๆ(Level and Dimension) ,เพิ่มรายละเอียดต่างๆ (Detail design) รวมไปถึงการประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น(Preliminary Budget)

5.Construction Drawing

            หลังจากการพัฒนาแบบเสร็จสิ้นจนพึงพอใจแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการเขียนแบบก่อสร้าง เพื่อนำไปอ้างอิงระยะ และระดับต่างๆรวมไปถึงวัสดุต่างๆ โดยจะแบ่งออกเป็น แบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมงานระบบอาคาร ซึ่งก็จะครอบคลุมรายละเอียดทั้งหมด และจะรวมไปถึงการประมาณการค่าก่อสร้าง(BOQ)

          ขั้นตอนการทำงานข้างต้น เป็นขั้นตอนการทำงานทั่วไปที่สถาปนิกส่วนมากใช้กัน ในส่วนของรายละเอียดการออกแบบของแต่ละที่ อาจจะมีขั้นตอนอื่นๆใดๆเพิ่มเติม หรือลดลงบ้างขึ้นกับบริบทของแต่ละโครงการไป และไม่ได้หมายความว่าสถาปนิกทุกคนจะต้องทำตามขั้นตอนนี้ทุกขั้นตอน

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบผู้ออกแบบ

เมื่อท่านเลือกสถาปนิก หรือมัณฑนากรได้แล้ว มักเกิดข้อสงสัยว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้ดีไซนิคอล สตูดิโอ จะมาแนะนำแนวทางให้กับท่าน

          โดยปกติแล้วก่อนเริ่มทำการออกแบบใดๆ สถาปนิกจะนัดคุยกับผู้ว่าจ้าง เพื่อสอบถามชีวประวัติ ความชอบ ความต้องการ รวมไปจนถึงสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งขั้นตอนนี้ค่อนข้างใช้เวลาอยู่พอสมควร เนื่องจากสถาปนิกต้องการข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะรวบรวมจากท่านได้ เพื่อนำไปประมวลผลใช้ในการออกแบบอาคารให้ได้ประโยชน์ใช้สอย และตรงกับความต้องการของท่านมากที่สุด

          แต่อย่างไรก็ตามต่อให้สถาปนิกมีประสบการณ์มากเพียงใด มนุษย์เราย่อมมีความผิดพลาดได้เป็นเรื่องธรรมดา อาจเกิดจากสถาปนิกตีความคลาดเคลื่อน หรือผู้ว่าจ้างอาจจะส่งสารไม่ชัดเจน หรือไม่แน่ใจในความต้องการนัก ซึ่งปัญหานี้จะทำให้เกิดการเสียเวลาในช่วงพัฒนาแบบร่างเป็นอย่างมาก แต่หากท่านเตรียมตัวทำการบ้านซักหน่อย การได้อาคารในฝันของท่านจะง่ายขึ้น และรวดเร็วปานติดจรวดทันที

ข้อที่ 1 วางแผนงบประมาณคร่าวๆ

          งบประมาณในการก่อสร้าง หรือตกแต่งอาคาร จะเป็นตัวควบคุมขนาดพื้นที่ใช้สอย และสไตล์ของอาคารที่สามารถทำได้ ดังนั้นในส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ ส่วนมากท่านที่ไม่มีประสบการณ์มักจะนึก หรือไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสร้างอาคารซักหลังต้องใช้งบประมาณเท่าใด จริงอยู่ที่สถาปนิกที่มีประสบการณ์จะสามารถประเมินงบประมาณเบื้องต้นให้ท่านได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งจะต้องประเมินจากจำนวนห้อง พื้นที่ในอาคาร ลักษณะรูปแบบอาคาร เป็นต้น แต่เมื่อสถาปนิกแจ้งงบประมาณเบื้องต้นแก่ท่านแล้ว ท่านจะทราบว่า งบประมาณดังกล่าวคือจำนวนที่ท่านพร้อมจะจ่ายหรือไม่ เพราะหากมีการปรับงบประมาณที่จะใช้ในภายหลังจะมีผลต่อแบบร่างอาคารอย่างมาก บางครั้งต้องล้มแบบเพื่อออกแบบใหม่กันเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ท่านล่าช้ากว่ากำหนด
          ดังนั้นเบื้องต้นท่านอาจจะดูเป็นช่วงกว้างๆไว้ก่อนก็ได้ว่า ความสามารถในการใช้จ่ายสำหรับอาคารหลังนี้อยู่ที่ประมาณเท่าไร และต้องไม่ลืมว่างบประมาณที่จะต้องเตรียมไว้ใช้จะมี 4 ส่วนด้วยกันคือ ตัวอาคาร ตกแต่งภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม และสุดท้ายคือเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง เช่นนั้นท่านควรเผื่องบประมาณไว้สำหรับส่วนนี้ด้วย

ข้อที่2 สไตล์ หรือรูปแบบอาคารที่ชอบ

          ความชอบเป็นสิ่งเฉพาะ แต่ละคนจะมีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ และนั้นทำให้ท่านตัดสินใจใช้นักออกแบบ แต่ท่านจะสื่อสารอย่างไรให้ตรงกับความต้องการให้ได้มากที่สุด ยิ่งบางคนอธิบายไม่คล่องยิ่งจะยากไปอีก ปัญหาตรงนี้แนะนำให้ท่านใช้รูปในการสื่อสาร เพราะรูปหนึ่งรูปสามารถทดแทนคำพูดได้มากมาย โดยท่านสามารถใช้รูปเพื่ออธิบายประกอบคำพูด และอธิบายความชอบของท่านได้ เช่น มุมระเบียงต้องการแบบนั้น ห้องครัวต้องการเคาน์เตอร์กลางแบบนี้ ชอบวัสดุชนิดนี้ อยากได้อารมณ์ทางเข้าบ้านแบบนี้ อยากได้โทนแบบนี้ หรือแม้แต่รูปที่ไม่เกี่ยวกับอาคาร แต่สามารถอธิบายตัวตนของท่านได้
          สำหรับบางท่านที่ไม่ทราบว่าความชอบของตัวเองคือลักษณะใด จากประสบการณ์การออกแบบ และประชุมแบบกับลูกค้ามากมาย เราพบว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากท่านมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสังเคราะห์ข้อมูล หมายความว่า ท่านมีภาพในหัวไม่เพียงพอ หรือน้อยเกินไป วิธีง่ายที่สุดคือ ยอมเสียเวลาสักนิดเปิดดูรูปอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะ Google ,Pinterest เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้มีอัลกอริทึมเพื่อดูสิ่งที่ท่านสนใจ และพยายามแนะนำรูปที่มีความเกี่ยวข้องให้เคียงกับที่ท่านชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตัวท่านไม่จำเป็นต้องเครียดมาก แค่ทำสมองให้โล่งๆไม่ต้องยึดติดกับสิ่งใดนัก เลื่อนหน้าจอไปเรื่อยๆยามที่ว่าง เจอรูปไหนชอบก็บันทึกเก็บไว้ เมื่อท่านมีข้อมูลมากพอเรามั่นใจว่าท่านจะสามารถรู้ใจตัวเองได้แบบไม่ทันรู้ตัว
          อย่างที่บอกท่านไม่จำเป็นต้องเครียดมากกับการหารูป ขอแค่พอสื่อสารให้ได้ก็เพียงพอ เราต้องการเน้นแค่ให้ท่านรู้ใจตัวเองเท่านั้น โดยผู้ออกแบบมีหน้าที่ขยายผล และศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ท่านเอง

3.ฟังก์ชั่น และพื้นที่ใช้สอย

          โดยปกติทั่วไปอาคารแต่ละประเภทจะมีความต้องการฟังก์ชั่นการใช้งาน และขนาดพื้นที่แตกต่างกัน สถาปนิกที่มีประสบการณ์มักจะเข้าใจในส่วนนี้ และพวกเขามักจะเตรียมคำถามไว้สอบถามท่านอยู่แล้ว แต่เราแนะนำให้ท่านเตรียมตัวมาก่อน หลักๆอยากได้แบบไหน มีสมาชิกที่ใช้สอยอาคารจำนวนเท่าไร มีใครบ้าง เช่น บ้านแบบไหนที่ท่านฝันไว้ อยากได้จำนวนกี่ชั้น ต้องการกี่ห้องนอน เป็นต้น
          ตรงนี้หากท่านมีความต้องการพิเศษให้โน้ตไว้ด้วย เมื่อท่านพบสถาปนิกครั้งแรกท่านควรจะอธิบายข้อมูลให้ได้มากที่สุด เช่น หากท่านมีสุนักตัวโปรด ต้องการพื้นที่ให้น้องวิ่งเล่นในบ้านเป็นห้องพิเศษ แคบๆแต่ยาวๆ หรือต้องการห้องอาบน้ำนอกบ้านที่คนจากภายนอกไม่สามารถมองเห็นได้ เป็นต้นเราอยากเรียนท่านว่า ไม่มีความต้องการใดที่เป็นไปไม่ได้ หากท่านต้องการสิ่งนั้นจริงๆ

4.ข้อมูลทางกายภาพ

          ความเป็นไปได้ในการออกแบบ บางครั้งขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางกายภาพ อาทิเช่น ขนาดของที่ตั้งอาคาร กฎหมายอาคาร สภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพูดคุยเรื่องความชอบความต้องการ ท่านควรนำข้อมูลเหล่านี้ให้แก่สถาปนิกก่อน เพื่อที่จะได้คุยกับบนพื้นฐานของบริบทของที่ตั้งด้วย โดยข้อมูลที่ท่านควรนำมาคือ
          1.โฉนดที่ดิน หรือผังที่ดิน
          2.รูปประกอบ (ในกรณีที่ยังไม่ได้ไปยังพื้นที่)
          3.แบบแปลนอาคาร (ในกรณีตกแต่งภายใน)
          หรือแบบแปลนอาคารเดิม(ในกรณีรีโนเวท ปรับปรุงอาคาร)
            4.หากท่านมีข้อมูลอื่นๆเป็นพิเศษ ให้นำมาด้วยตั้งแต่วันแรกที่คุยกัน

5.สอบถามค่าบริการให้ชัดเจน

          ในการให้บริการการออกแบบ หรือก่อสร้างแต่ละบริษัทจะมีอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นให้ท่านสอบถามค่าบริการให้แน่ชัด งวดในการชำระเงินเป็นอย่างไร และเนื้องานที่ท่านจะได้รับมีอะไรบ้าง เพื่อความสบายใจต่อตัวท่านเอง หากท่านได้มีการต่อรอง หรืออยากให้ผู้ออกแบบแถมอะไรให้ท่าน ให้ท่านแจ้งก่อนที่จะชำระเงินในงวดแรก และให้ระบุไว้ในสัญญาไว้ด้วย

          นักออกแบบที่ทำงานมานานมีประสบการณ์มักจะมีวิธีในการคุยกับท่าน และพร้อมรับฟังปัญหาของท่าน ในเมื่อท่านตัดสินใจเลือกใช้นักออกแบบท่านใดแล้ว ให้ท่านเชื่อใจท่านนั้นๆ หากต้องการอะไรให้แจ้งผู้ออกแบบได้เลย เพราะท่านว่าจ้างเขามาเพื่อสร้างความสวยงาม และแก้ไขปัญหาให้กับท่าน เพื่อให้ท่านมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

DESIGNICAL STUDIO

DESIGNICAL STUDIO มาจากการเล่นคำโดยการนำคำว่า Design + ical มารวมกัน หมายความว่า พวกเรากำลังทำเรื่องที่เกี่ยวกับการออกแบบนั้นเอง โดยแนวคิดในการออกแบบของเราคือ ต้องการให้ลูกค้าได้โยชน์สูงสุดไม่ใช่แค่ออกแบบให้สวยอย่างเดียว แต่ต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่ดี มีความคุ้มค่า และที่สำคัญ คือเหมาะกับบริบทนั้นๆ เช่น ถ้าลูกค้าให้ออกแบบร้านอาหารเราจะตั้งใจออกแบบให้สวยงามอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้สถาปัตยกรรมช่วยให้ร้านขายดีขึ้นด้วย การใช้งานก็ต้องมีความสะดวกเช่นกัน หรือถ้าลูกค้าต้องการให้เราออกแบบบ้าน เราก็ต้องใช้สถาปัตยกรรมให้มีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น โดยทั้งหมดจะเกิดจากเรา และลูกค้านำความคิด ความชอบ และหลักการที่ถูกต้องมาผสมผสานกันให้ได้ผลงานที่พอใจที่สุดสำหรับคุณ

แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่เราจะก่อตั้งบริษัท ผมในฐานะผู้ก่อตั้งตอนนั้นผมยังทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ด้วยความชอบในการออกแบบจึงได้รับงานออกแบบอาคารอยู่เป็นระยะๆ ภายหลังลูกค้าเริ่มมีการแนะนำกันมาทำให้งานออกแบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องตัดสินใจทิ้งงานที่เรารักมาทำงานที่เรารักมากกว่าแล้วเปิดสตูดิโอเล็กๆ ต่อมาได้รวบรวมทีมจากคนที่มีแนวคิดในการออกแบบคล้ายคลึงกัน และได้จดทะเบียนบริษัทชื่อ designical studio ภายหลังต้องการบริการลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงมีการให้บริการรับตกแต่งภายใน และสร้างเพิ่มเข้ามาด้วย

ส่วนใหญ่ลูกค้าของเราจะเป็นลูกค้าเก่า หรือถูกแนะนำกันมาปากต่อปากมากกว่าทางช่องทางออนไลน์ จึงต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า สตูดิโอของเราเป็นสตูดิโอขนาดไม่ใหญ่ทำงานกันในระบบครอบครัว ค่อยๆขยายอย่างช้าๆ เพราะสิ่งที่เรากังวลมากที่สุดคือ คุณภาพของบริการเรา ทำให้เรารับงานได้ค่อนข้างจำกัด บางครั้งลูกค้าอาจจะต้องรอคิวออกแบบบ้าง  1–2เดือน ก็ต้องขอบคุณลูกค้าท่านที่อดทนรอจริงๆ เราจะทำงานให้คุ้มกับเวลาที่ท่านเสียไปอย่างแน่นอน สำหรับบางท่านที่ติดต่อเข้ามาในช่วงที่เราสามารถรับงานได้เพิ่มพอดี ทางก็ยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้ให้บริการแก่ท่าน หากท่านต้องการติดต่อสอบถาม ต้องการทราบอัตราค่าบริการ หรือต้องการใบเสนอราคา สามารถติดต่อเราได้ทันที โปรดอย่างลังเลที่จะได้รู้จักกัน