ฮวงจุ้ย (FUNGSHUI) หมายถึง สภาวะแวดล้อม หรือการอยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ในคติของชาวจีนมีลักษณะใกล้เคียงสถาปัตยกรรมศาสตร์คำว่า ฮวงจุ้ย มาจากคำว่า ลม(ฮวง)และ น้ำ(จุ้ย)ออกเสียงตามสาเนียงจีนแต้จิ๋ว

แก่นแท้จริงของศาสตร์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากหลักการของธรรมชาติ และอ้างอิงวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งชื่อวิชาก็บ่งบอกได้ชัดเจนอยู่แล้ว คำว่า”ฮวง” แปลว่า ลม และ “จุ้ย”
แปลว่า น้ำ ซึ่งไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างใด บางคนที่พยายามนำฮวงจุ้ยมาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ท่านผู้อ่านคงต้องลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนกันเอง ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆผู้เขียนคิดว่า ซินแสในสมัยก่อนก็เหมือนผู้เชียวชาญเกี่ยวกับการออกแบบอาคารในสมัยก่อน เปรียบเทียบเหมือนเป็นสถาปนิกในสมัยนั้นนั้นเอง

วิชาฮวงจุ้ย มองว่าสรรพสิ่งรอบตัวล้วนแล้วแต่มีพลังงานทั้งสิ้น ศาสตร์วิชาฮวงจุ้ยจะว่าด้วยการดึงพลังเหล่านั้นที่มีอยู่รอบตัวอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ให้มาเสริมผู้อยู่อาศัย โดยพลังนั้นมากับ“การพัดไหลเวียนของอากาศ ที่เรียกว่า “ลม” และความเคลื่อนไหวของ “น้ำ” และแสงสว่าง รวมทั้งพลังจาก “สีสัน” “รูปลักษณ์” และ “ทิศทาง”
โดยพยายามหาทางจัดการให้พลังทั้งหมดนี้ มาเสริมกับพลังของตัวบุคคล (ดวงชะตา) นั่นเอง โดยมีสูตรพลังงานที่ซับซ้อนในการคำนวณรูปแบบของพลังงานที่มาจากแต่ละทิศทาง หากอ่านมาถึงจุดนี้อยากให้ท่านเข้าใจว่าแก่นแท้ของฮวงจุ้ย และสถาปัตยกรรมจะไม่ต่างกันมาก (ขอเน้นคำว่าแก่นแท้)ก็คือต้องการให้ “ผู้อยู่อาศัย” มีชีวิตที่ดีในสถานที่นั้นๆของเขา

บางครั้งท่านอาจจะเคยได้ยินว่า ความแตกต่างของสถาปนิก และซินแส ต่างกันเพียงแต่มุมมอง นั่นคือสถาปนิกจะมองจาก “ประโยชน์ใช้สอย และความสวยงาม” ต่อเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก แต่ซินแสนั้นจะมองจาก “พลังงานของผู้อยู่อาศัย และพลังงานของทิศทางสถานที่ โดยในมุมมองของผู้เขียนคิดว่าไม่ถูกต้องสักทีเดียว เนื่องจากในโรงเรียนสถาปัตยกรรมก็มีการเรียนการสอนในเรื่องของ ทิศทางแดด ลม ฝน คุณภาพอากาศในอาคาร แสง เสียง และสภาวะน่าสบายที่อธิบายสิ่งต่างๆที่มีผลต่อความสบายทางอุณหภูมิของผู้อยู่อาศัย ผู้เขียนเองก็เคยได้ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าสถาปนิกไม่สนใจเรื่องบริบทพื้นที่(พลังงาน)ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว โดยส่วนมากสถาปนิกมักจะไม่ชอบศาสตร์ของฮวงจุ้ยเลย แต่ตัวผู้เขียนไม่มีอคติใดๆ กับฮวงจุ้ยเลย จากประสบการณ์การศึกษาของผู้เขียนพบว่า หากเราเข้าใจหลักการที่เป็นแก่นแท้ของศาสตร์นี้ จะพบว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรที่ผิดไปจากหลักการที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์สถาปัตยกรรมสอบนัก และปัจจุบันมีอาจาร์ยสถาปัตยกรรมหลายท่านที่ลองนำศาสตร์ของฮวงจุ้ยข้อต่างๆมากทดสอบ ทดลองตามหลักการ ระเบียบวิธีวิจัยแล้วจะพบว่า หลายข้อในหลักการของฮวงจุ้ยนั้นถูกต้องตามหลักการออกแบบปัจจุบัน แต่อาจจะมีบางข้อหากนำมาใช้จะต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และบทริบทในประเทศไทย

ส่วนที่ฮวงจุ้ยมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฮวงจุ้ยเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา และวิธีการที่เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของคนจีนที่สั่งสมมา จากประสบการณ์ การสังเกต และการทดลองใช้งาน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ฮวงจุ้ยจึงได้รับการกล่าวขานว่าคือ “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ”

เกร็ดความรู้ฮวงจุ้ยเบื้องต้น

ฮวงจุ้ยแบ่งเป็น 3 สายหลักๆได้แก่
1.ซำง้วน
การนำข่วย 8 ทิศ หรือโป๊ยข่วย มาเรียงซ้อนกันใหม่เป็น 64 ข่วย (8*8 =64)
2.ซาฮะ
ส่วนซาฮะไม่ใช้ข่วย แต่จะใช้ 5 ธาตุผสมกับหลักหยินหยาง กลายเป็น 10 ราศีฟ้า 12 ราศีดิน แล้วนำมารวมกันกลายเป็น 60 กะจื้อ
3.จงฮะ
ผู้ที่สามารถใช้ทั้งซำง้วน และซาฮะได้อย่างชำนาญ
คำถามคือ เวลาไหนใช้ซำง้วน เวลาไหนใช้ซาฮะ ว่ากันว่าเคล็ดลับพวกนี้ซินแสจะถ่ายทอดวิธีการดังกล่าวให้กับบุตรที่สืบสายเลือดของตนเองเท่านั้น
และต้องเป็นบุตรชายเท่านั้น

หลักของฮวงจุ้ย เชื่อในพลังแห่งความสำเร็จ 3 อย่าง ดังนี้

1.ฟ้าลิขิต
การกำหนดจากฟ้า ในเรื่องของโชคชะตา และความเป็นไปในจักรวาล เชื่อกันว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
2.คนลิขิต
เป็นการทำตัวของคน ว่าจะเลือกทำความดี หรือความเลว
3.ดิน
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในศาสตร์ของฮวงจุ้ย เพราะเป็นตัวกำเนิดของธาตุต่างๆ ทั้งยังหมายถึงธรรมชาติ และความสดุลของพลังธรรมชาติ ตามหลักความเชื่อของฮวงจุ้ย

หลักการสำคัญ ในศาสตร์ของฮวงจุ้ย
1.ดวงชะตา
ดวงชะตาฟ้าลิขิตนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตามหลักความเชื่อของศาสตร์ฮวงจุ้ย ว่ากันว่าจะต้องมีการพยากรณ์ดวงชะตาราศีกันเสียก่อน เพื่อพิเคราะห์ พิจารณาถึงพื้นชะตา ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยน เสริมชะตา เพื่อให้เข้ากับหลักอื่นๆ ตามวิชาฮวงจุ้ยได้หรือไม่
2.ชัยภูมิ
หมายถึงที่อยู่อาศัย จะช่วยในการหนุนเสริมดวงชะตาให้กับผู้อยู่อาศัย สามารถชักนำเอาพลังแห่งจักรวาลมาหมุนเวียนภายในบ้าน ซึ่งสามารถแตกแขนงออกเป็นหลายสาขาย่อยๆ แต่ส่วนมากแล้วเป็นแนวทางในการเลือกชัยภูมิ การปรับ การเสริมชัยภูมิ เป็นต้น
3.ดาวนพเคราะห์ (ดาว9ยุค)
มีการนำเอามาใช้กันมากที่สุด การจัดวางชัยภูมิให้ดึงพลังแห่งอำนาจ ความร่ำรวยให้เข้ามาสู่บ้าน การจัดวางชัยภูมิตามหลักวิชานี้ ดังนั้นตามหลักของฮวงจุ้ยแล้ว การสร้างชัยภูมิที่อิงภูเขาและหันหน้าหาแม่น้ำ จึงเป็นสุดยอดฮวงจุ้ย ที่จะนำมาซึ่ง โชคลาภ บารมี ความร่ำรวยและยิ่งใหญ่ เป็นต้น
4.ฮวงจุ้ย 8 ทิศ
ความสัมพันธ์ระหว่างคน และทิศทั้ง 8 จะเน้นที่เรื่องของประตู ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการเข้าออกของโชคลาภ อำนาจ บารมี และความร่ำรวย อีกหลักหนึ่งที่สำคัญคือจุดประธาน อันเป็นจุดที่เสริมสมดุลของทุกสิ่ง เป็นหลักของทุกสิ่งในบ้าน และกิจการ

ฮวงจุ้ยจะใช้หลี่-ชี กับชัยภูมิ ในสัดส่วนที่สมดุลกัน

โดยหลี่-ชี่ หมายถึงการเคลื่อนไหวของปราณ หรือการถ่ายเทพลังงาน
-เริ่มจากการสังเกต + เทพนิยายจีน
-ทฤษฏีบรรยากาศ
-ทฤษฏีไอออนเหล็ก
-สุนทรียศาสตร์
ในหนึ่งหมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ทิศทาง แดด ลม ฝน

ชัยภูมิ หมายถึงที่อยู่อาศัย ในหนึ่งหมายถึงสิ่งที่มองเห็นได้ได้ คือพื้นที่ตั้ง รูปลักษณ์ รูปทรง

หากเปรียบเทียบชี่ กับวิทยาสาสตร์สมัยใหม่ จะพบว่า พลังของชี่ทางฮวงจุ้ยจะถูกอธิบายด้วยหลักการให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่สื่อถึงความสบายของผู้อยู่อาศัยและ ทัศนีภาพที่สวยงานที่ผ่านการกลั่นกรองกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยก่อนของประเทศจีน ในส่วนของวิทยาศาสตร์อาคารในศาสตร์ของสถาปัตยกรรมก็มีหลักการออกแบบเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความสบาย เช่นกันซึ่งมีหลายทฤษฏี เช่น สภาวะสบาย เป็นต้น

ท้ายที่สุดผู้เขียนขอสรุปไว้ว่า ฮวงจุ้ยคือศาสตร์ในการกำหนดที่ตั้งให้เหมาะสม และเป็นมงคลสำหรับผู้ใช้งานสถานที่นั้นๆ โดยมีองค์ประกอบธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ เข้ามาเกี่ยว ซึ่งไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความคล้ายคลึงกันกับการออกแบบสถาปัตยกรรมในสมัยใหม่ เนื่องจากหลักการในหลายๆส่วน และที่สำคัญคือจุดมุ่งหมายสำคัญในการนำไปใช้มีความคล้ายคลึงกัน คือต้องการให้ “ผู้อยู่อาศัย” มีชีวิตที่ดีในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นไม่ว่าท่านจะใช้หลักของศาสตร์ใดหากทำให้ถูกต้อง ทั้งคู่ย่อมมีความสอดคล้องกัน

*ข้อมูลทั้งหมดมาจากรวบรวม การศึกษา การอ่านหนังสือ และประสบการณ์ โดยนำมาตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ตามความเข้าใจของผู้เขียน(สถาปนิก) หากมีข้อความใดที่ไม่ตรงกับความเชื่อ หรือความเข้าใจของท่านต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

Recommended Posts

2 Comments

  1. เนื้อหาเขียนได้ยอดเยี่ยมเลยค่ะ เป็นความรู้ที่เปิดกว้างและให้เกียรติหลักความเชื่อและประการณ์ทางวิชาชีพอย่างน่ารักมากจริงๆ ขอคุณสำหรับเนื้อหาที่ดีนะคะ


Add a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.